วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กระบวนยุติธรรมในการจับกุมเด็กและเยาวชน

                กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ได้คำนึงถึงสิทธิของเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างมาก  ดังนั้น การนับอายุของเด็กและเยาวชนจึงมีความสำคัญเพราะมีผลต่อการปฏิบัติของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ การจับกุม การสอบสวน การถามปากคำ และการดำเนินคดี
                ในส่วนของเจ้าพนักงานที่ทำการจับกุมเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด เจ้าพนักงานจะต้องแจ้งการจับกุมนั้นไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กและเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ  รวมไปถึง บิดามารดา ผู้ปกครองที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ด้วย  
ในส่วนของพนักงานสอบสวนจะต้องทำการถามปากคำเด็กหรือเยาวชนให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน  
และหากเวลาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่เด็กหรือเยาวชน เด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ การสอบสวนต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย จากนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมตัวที่สถานพินิจในส่วนที่เรียกว่า สถานแรกรับ   ซึ่งปัจจุบันนี้เปิดรับตัวเด็กและเยาชนตลอด 24 ชั่วโมง  เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กไม่ให้ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจรวมกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ หากผู้ปกครองมีความประสงค์จะยื่นขอประกันตัวเด็กหรือเยาวชน จะต้องมาดำเนินการยื่นขอประกันตัวที่สถานพินิจ  ไม่ใช่ที่สถานีตำรวจแต่ประการใด
              
การปฏิบัติในการจับกุมเด็กและเยาวชน

เมื่อเด็กและเยาวชนกระทำความผิด หลายคนอาจสงสัยถึงวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมตัวเด็กและเยาวชน  หลายครั้งที่ประชาชน เข้าใจผิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงมองว่า จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน   ข้อเท็จจริงของการปฏิบัติเกี่ยวกับการจับกุมเด็กและเยาวชนมีดังนี้
กฎหมายได้บัญญัติมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุมตัวเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดโดยเด็ดขาด เว้นแต่ 4 กรณี ดังนี้
1.       เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมตัวได้
2.       มีผู้เสียหายชี้ตัว และ ยืนยันให้จับ
3.       มีผู้ขอให้จับ โดยแจ้งว่า ได้มีการร้องทุกข์ เอาไว้แล้ว
4.       มีหมายจับอยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                หากเป็นไปตาม 4 กรณีดังกล่าวข้างต้น  เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวเด็กและเยาวชนได้  และถึงแม้ว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534    จะไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการของการจับกุมเอาไว้ก็ตาม  แต่การปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนนั้น ต้องมุ่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และปรับปรุงแก้ไขให้เด็กกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป การจับตัวเด็กและเยาวชนจึงควรเป็นไปด้วยความละมุนละม่อม  และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้เครื่องพันธนาการกับเด็กและเยาวชน 
    
 
Jingle Outtro
ครอบครัวสุขสันต์  สัมพันธ์ใกล้ชิด ลดการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน
วันนี้ คุณกอดลูกแล้วหรือยังคะ
 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม